พรีเมียร์ ลีก พบความล้มเหลวในการห้ามไม่ให้ใช้กำไรจากการขายโรงแรม, สนามซ้อม และทรัพย์สินจับต้องได้อย่างอื่น ลงในบัญชี ไฟแนลเชียล แฟร์เพลย์ เนื่องจากสโมสรร่วมลงคะแนนไม่ถึงอัตราที่กำหนด
ฤดูกาลที่ผ่านมา “สิงห์บลูส์” รอดพ้นความผิดใช้จ่ายเกินลิมิต ด้วยการขายโรงแรม 2 แห่ง และลานจอดรถที่ แสตมฟอร์ด บริดจ์ ให้แก่บริษัทในเครือด้วยราคา 76.5 ล้านปอนด์
ดีลดังกล่าวทำให้ พรีเมียร์ ลีก ต้องทบทวนมาตรการตัวเองใหม่ พร้อมเสนอวาระในการประชุมประจำปีเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา แต่มีเพียง 11 จาก 20 สโมสรออกเสียงสนับสนุน ไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 ที่กติกากำหนดไว้
ผู้โหวตคัดค้าน มองว่าถ้อยคำของ พรีเมียร์ ลีก ขอบเขตกว้างเกินไป ไม่แยกชัดเจน ระหว่างรายได้นอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล เช่น โรงแรม หรือสนามกีฬาที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งสโมสรควรใช้ประโยชน์ กับการขายทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วให้ตัวเองเพื่อตบแต่งบัญชี
พรีเมียร์ ลีก ยังคงเชื่อว่าตัวเองต้องเพิ่มเครื่องมือควบคุมด้านการเงิน เพื่อความยั่งยืนและแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยแหล่งข่าวคาดการณ์ เตรียมกลับไปร่างกติกาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อยื่นวาระโหวตใหม่
ในที่ประชุมยังมีอีกหนึ่งข้อเสนอจาก พรีเมียร์ ลีก ถูกปฏิเสธ และเตรียมกลับไปแก้ไขให้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน คือการบังคับให้แต่ละสโมสร เป็นผู้ยื่นเรื่องแจ้งทำผิดกฎการเงินด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม พรีเมียร์ ลีก ประสบความสำเร็จ ในมติขอให้ทดลองใช้ระบบกฎการเงินแบบใหม่ ซึ่งลิมิตการใช้เงินเสริมทัพแต่ละสโมสร จะเชื่อมโยงกับรายได้จากสปอนเซอร์ถ่ายทอดสด ของทีมอันดับสุดท้ายในลีก
พรีเมียร์ ลีก ระบุว่าระบบใหม่ดังกล่าว จะถูกทดลองใช้อยู่เบื้องหลังของเดิม ควบคู่กับอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลง คือการจำกัดให้แต่ละสโมสรใช้เงินเสริมทัพได้ไม่เกิน 85% จากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล และกำไรจากการขายนักเตะ
ตามกฎการเงินปัจจุบัน แต่ละสโมสรห้ามขาดทุนเกิน 105 ล้านปอนด์ตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่ง แอสตัน วิลล่า ยื่นมติขอเพิ่มเป็น 135 ล้านปอนด์ แต่ไม่ผ่านโหวต โดยมีเพียง 2 ทีมลงชื่อสนับสนุน และ 3 ทีมงดออกเสียง
สนับสนุนโดยเว็บไซต์ Ufabet
|