ไพบูลย์เดินหน้าบี้มส.-พศ. รองผอ.พศ.ชี้'มีสิทธิ์ทำได้' | เดลินิวส์ „กรณีมติของมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาต่อพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดียักยอกทรัพย์ ไม่เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิก เพราะคดีสิ้นสุดลงในศาลสงฆ์ชั้นต้น ทำให้คดีไม่เข้าสู่การพิจารณาในศาลสงฆ์ชั้นอุทธรณ์และศาลสงฆ์ชั้นฎีกานั้น ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และเครือข่ายชาวพุทธ เปิดเผยว่า ตนจะดำเนินการยื่นร้อง 2 ช่องทางคือ 1.ยื่นร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะ มส. ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นหน่วยงานของรัฐ 2.ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ "จะดำเนินการเอาผิดกับ มส. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นความผิดตามมาตรา 157 เพราะอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ แต่เรื่องวินิจฉัยการทำหน้าที่เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน"นายไพบูลย์กล่าว พศ.ชี้ "ไพบูลย์" ฟ้องศาลมีสิทธิทำได้ ด้านนายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ ประกาศจะฟ้องร้อง พศ. และมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ พศ. คงไม่สามารถไปห้ามได้ หากศาลรับฟ้องก็ยินดีที่จะไปชี้แจง เพราะที่ผ่านมายืนยันได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนหนังสือชี้แจงกรณีคดีพระธัมมชโยที่จะส่งไปยังดีเอสไอนั้น ขณะนี้มส.เห็นชอบร่างหนังสือฉบับนี้แล้ว รอเพียงนายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. ลงนามเท่านั้น ก็จะส่งไปยังดีเอสไอ คาดว่าเร็วสุดภายในเย็นวันนี้ (11ก.พ.) แต่ช้าสุดไม่เกินวันที่ 12 ก.พ.2559 "ขอยืนยันว่า พศ. และ มส. ได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชอย่างเต็มที่แล้ว โดยยึดหลักปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 กฎมส.และพระธรรมวินัย โดยเมื่อคดีสิ้นสุดลงในศาลสงฆ์ชั้นต้น ตามกฎมส.ฉบับที่ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรมกำหนดไว้คดีทางสงฆ์ใดที่สิ้นสุดลงไปแล้ว ไม่สามารถนำคดีนั้นมายื่นฟ้องใหม่ได้ หากจะยื่นฟ้องต้องเป็นคดีใหม่ในกรณีอื่นๆ"รอง ผอ.พศ.กล่าว "ดีเอสไอ" ยันผลการพิจารณาทางสงฆ์ "พศ." ต้องรับผิดชอบเอง ขณะที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินการ ซึ่งดีเอสไอได้รับเรื่องร้องจากผู้ร้อง ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามคำร้อง เพื่อแจ้งผลให้ผู้ร้องรับทราบว่า ที่ต้องการทราบว่ามีการดำเนินการอย่างไรนั้น ดีเอสไอสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ แล้วได้คำตอบอย่างไรบ้าง ในส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย มีการร้องเรียนทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับดีเอสไอและบางประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินการตามหน้าที่ แต่หากไม่เกี่ยวข้อง ก็มีหน้าที่สอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบคำถามกลับไปยังผู้ร้อง ด้านพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ประเด็นการอาบัติปาราชิกหรือไม่ของพระธัมมชโย เป็นหน้าที่ของหน่วยสงฆ์ที่รับผิดชอบโดยตรง ดีเอสไอมีหน้าที่สอบสวนคดีอาญา ซึ่งครั้งนี้ดีเอสไอทำหน้าที่เป็นตัวกลางสอบถามไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาคำตอบให้ผู้ร้อง ส่วนผลการพิจารณาทางสงฆ์จะเป็นอย่างไร หน่วยงานนั้นๆก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผลการพิจารณาของตัวเอง อย่างไรก็ตามต้องรอพิจารณารายละเอียดหนังสือชี้แจงจากพศ.ก่อนว่าได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ซึ่งอาจมีการให้ข้อสังเกตในจุดที่เห็นสมควร ส่วนกรณีที่จะมีการฟ้องร้องเอาผิดกับพศ.ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น หากมีการร้องมาที่ดีเอสไอ ดีเอสไอก็ต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่มีอำนาจไต่สวน คือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน เพราะเป็นความผิดของเจ้าพนักงาน ไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ ที่รัฐสภา บ่ายวันเดียวกัน นายไพบูลย์ พร้อมด้วยเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชและเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา ร่วมกันแถลงข่าวถึงมติของมหาเถรสมาคม(มส.) ที่ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามหนังสือแจ้งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ที่ให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราซิกตามพระลิขิตของสมเด็จญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช อีกครั้งว่า การที่ มส.ระบุว่าไม่สามารถดำเนินการตามดีเอสไอได้ อ้างว่าคดีของพระธัมมชโยสิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้วนั้น เห็นว่าการกระทำของ มส. และสำนักพระพุทธศาสนา (พศ.)อาจจะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากนี้ที่ประชุม มส.ยังได้รับรองการดำเนินการให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย นั้นเห็นว่าผู้พิจารณาชั้นต้นไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงของกฎหมายและธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องต่อมส. เพื่อให้พิจารณาตามกฎของ มส.ฉบับที่21 (พ.ศ.2538) ข้อ 4 วรรคแรกและวรรคท้ายจึงอาจจะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังนั้นเพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการให้ได้ข้อยุติพวกตนจะนำเรื่องไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ กล่าวโทษ ต่อดีเอสไอ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยต่อไป.“
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/379016
เครดิต dailynews